039 ธรรมปัจเวกขณ์
ประจำวันที่ -- สิงหาคม ๒๕๒๖

การปฏิบัติธรรมที่จะมีกำไร เรียกว่า สุขาปฏิปทานั้น ต้องรู้ ต้นทางอย่างหนึ่ง คือเราทำให้สมตัว มีศีล หรือ มีกรรมฐาน หรือมีเรื่องสำคัญ ตัวการสำคัญ สักกายะ จะมีกี่เรื่อง ไล่เลียงลงไป ไอ้นี่ต้น ไอ้นี่กลาง ไอ้นี่ปลาย ไอ้นี่ใหญ่ ตัวการใหญ่ที่หนึ่ง ตัวการใหญ่รอง ตัวการใหญ่ รองลงอีกอะไร เราก็รู้ของเรา กำหนดสักกายะ ตัวใหญ่ ตัวการใหญ่ตัวไหน ก็กำหนด เสร็จแล้ว เราก็จัดการกับอันนั้น เป็นเรื่องเป็นราวไป เราจะมีเรี่ยว มีแรง ไปเที่ยวได้กวาดเก็บอะไร ทีละอะไรก็เอาหมด กิเลสอะไร เอาทุกตัว มันทำไม่ได้ดอกนะ เพราะฉะนั้น ตัวไหนที่เราว่า เอาตัวนี้ทิ้งไว้ก่อน เพราะว่า มันยังไกลเรา เรายังไม่ถนัด หรือว่าเรายังทำไม่ไหว หรือบางที วิบาก ส่วนเกี่ยวข้อง เรายังจำยอม ที่จะต้องให้เป็น อย่างนี้อยู่ เราก็วางไว้ก่อน เอาตัวที่สำคัญ เอาให้ดี จัดการให้เกลี้ยง เป็นจำนวน จำนวนพอแรง พอกับแรงของเรา

เมื่อเราแบ่งได้อย่างนี้ เราเรียกว่า จัดศีลสมตัว เป็นศีลที่เรา จะประพฤติ หรือว่าเป็นกรรมฐาน สมเหมาะ สมตัวคน เมื่อผู้ใดทำแล้ว ก็มีอีกสิ่งหนึ่ง ที่จะต้องทำในใจ คือ เมื่อทำแล้ว มันต้องอดทน สู้ฝืนจริง นั่นเป็น ทุกข์แท้อยู่แล้ว เราจะต้องขัดเกลา ต้องต่อสู้กับมัน เพื่อลด เพื่อละ ลดละมัน กิเลสมันก็สู้ มันก็ต้องฝืน ต้องทน มันก็ต้องพยายาม อุตสาหะวิริยะ หาวิธีการลดลงไปได้ ลดมันเรื่อยๆ กระทำมันจริงๆ ใจเรา จะต้องรู้ว่า อดทนหนักหนา อยู่ก็ตาม แต่ต้องอย่าขุ่นหมอง อย่าอึดอัดขัดเคือง อย่าเคร่งเครียด เรารู้ความจริง ตามความเป็นจริง ให้ได้ว่า เราจะสู้อันนี้ เราจะทำอันนี้ แล้วสู้อย่างยิ้มแย้ม แจ่มใส เบิกบาน ผู้ใดทำใจ ในอารมณ์ ซ้อนอย่างนี้ เป็นผู้ที่ไม่ให้มันทุกข์ ทับถมทุกข์ ที่เรากำลังสู้อยู่ เราทำในใจ อย่างนี้ด้วย แล้วก็แบ่งเบา พอประมาณสมตัว เรียกว่า สัมมาปฏิปทา หรือทำอย่าง มัชฌิมาปฏิปทา หรือทำอย่าง พอประมาณ ปานกลาง ให้สมฐานะของเรา

ผู้ใดทำด้วยการรู้จักสักกายะ ที่เรียกว่า ตัวการ ตัวขนาด หรือว่า ส่วนสัดตัวตนนี่ มันเป็นตัวเป็นตน มันเป็นเรา เป็นอะไร ยึดอยู่อย่างนั้นแหละ มันยังปล่อยไม่ได้ ทั้งนั้น ยังไม่หลุด ยังไม่พ้นทั้งนั้น แล้วเราก็พยายาม ที่จะเก็บมา ส่วนหนึ่ง หรือว่า ทำกับมันส่วนหนึ่ง ตะกละตะกลามทำทีเดียว รวบรัด พรวดพราด หมดเกลี้ยง มันไม่ได้หรอกน่ะ ดังที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น การทำอย่างนี้ เราเรียกว่า เป็นองค์ประกอบ หรือเป็น วิธีการของ มรรคองค์ ๘ ตามฐานานุฐานะ เพราะฉะนั้น จึงมีชั้นบุคคล โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ ไปตามขั้นตอน

เพราะฉะนั้น โสดาก็ทำแค่ประมาณนั้น ศีล ๕ เป็นต้น มีอบายมุข หรือมีส่วนสัดของโลก ที่หยาบต่ำก่อน อย่างนี้ เป็นต้น ที่ได้พยายาม แบ่งสัดแบ่งส่วน อะไรมาอธิบาย แล้วพาทำมา ได้มรรคได้ผล กันมาอยู่นี่ ต้องรู้จริงๆ เพราะฉะนั้น ใครได้มากขึ้นแล้ว ไอ้สิ่งนั้นได้แล้ว อย่าไปซ้ำส่ำฉ่ำแฉะ เสียเวลา หรือติดแป้นอยู่ รู้ชัดรู้เจนว่า นี่เป็นกตญาณ ไอ้นี่เป็นสิ่งที่เสร็จแล้ว แล้วเป็นแล้ว หาใหม่เพิ่ม เจริญวุฑฒิๆๆ เพิ่มต่อไป อยู่เรื่อยเสมอๆ อย่าไปเที่ยวได้เสพ ได้ภพสบาย แล้วเสพภพสบาย อย่างนี้พระพุทธเจ้า ไม่สรรเสริญ ขอให้มันตั้งมั่น แน่นอนว่าทำได้สำเร็จ แน่ใจนะ แน่ใจว่ามีฝีมือ ตัดได้เด็ดขาด ตั้งมั่น แน่นอน รู้ให้ชัดเจน แล้วเราก็เพิ่มภูมิ สลัดคืน ทำใหม่อีก ต่อสู้ใหม่อีก เพิ่มกรรมฐาน เพิ่มศีล เพิ่มตัวการใหม่ ของเรา ที่เราฝากไว้ก่อน หรือว่าเรายัง ไม่ได้เอามาทำ เอามันมาใหม่ ตอนนี้จัดการ เก็บไปเรื่อยๆ เก็บไปเรื่อยๆ อย่างนี้นี่ เป็นกรรมวิธีของ ศาสนาพุทธ ทำไปอย่างนี้แล้ว ก็จะเบาบาง ขึ้นไปเรื่อย ยิ่งละเอียด เราก็ยิ่ง จะต้องรู้ ให้ละเอียดลึกซึ้ง แล้วมันจะติดเนียน ยิ่งละเอียด ยิ่งว่าสงบลง ขึ้นต้นโสดา ก็ได้สงบ ประมาณหนึ่ง สกิทาก็มีความสงบระงับ ได้อีกประมาณหนึ่ง แล้วเราจะไปหลงซ้อน ภวภพ ภวตัณหา ติดความสงบ ติดเนียนลงไปอีก เนียนลึกซึ้งลงไปอีกเรื่อย ทิ้งยากขึ้นกว่าเก่า ยิ่งกว่า ทองเท่าหัว บอกแล้วว่า นามธรรม มันยิ่งสนิทเนียน แล้วเราก็ ติดความสงบ หลงความสงบ ลงไปอีก ไม่อยากหาทาง ที่จะมาต่อสู้ใหม่ ไม่อยากจะหากิเลส อันที่ยังมีอยู่ ในตัวเราอีกใหม่มาทำ เพราะมันจะต้องต่อสู้ อดทนอีก เราไปหลงความสงบ แม้แต่ฐาน ขนาดใดขนาดหนึ่ง อย่างนี้ เป็นผู้ที่ไม่เจริญ ยิ่งๆอยู่ กลายเป็น ผู้ขยุกขยัก ช้า

ถ้าผู้ใดทำถูกต้อง ตามหลักของ พระพุทธเจ้าแล้ว แบ่งทำพอสมควร รู้จักวางใจ อย่าอึดอัด ฟัดเหวี่ยง อย่าไปให้ใจเรา เคร่งเครียด หม่นหมอง เรารู้ว่า สู้เป็นสู้ เรารู้ว่า ทำเป็นทำ เบิกบาน ร่าเริง ยินดี กระทำอย่างนี้ ท่านเรียกว่า สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เราจะได้เร็ว เพราะทำถูกหลักการ ดังที่กล่าวนี้

ขอทำความเข้าใจในหลักการ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ให้ดีๆ โดยหลักมรรค องค์ ๘ โดยฐานานุฐานะ โดยเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย โดยโสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ โดยขั้นตอนของ ผู้ที่เป็นไป เป็นระดับ ๆๆๆ มีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย เข้าใจให้ละเอียดลออ ซับซ้อน แล้วเราก็ต้องรู้ความจริง ของเรา ให้ชัดเจน อันที่ได้แล้ว ก็ให้รู้แล้ว อันที่กำลังทำอยู่ ให้รู้อยู่ มีสัจญาณ มีกิจญาณ มีกตญาณ อะไรที่เป็น ความจริงตามนี้ มีปัญญารู้ว่า นี่ความจริง เราจะต้อง อันนี้เรามีจริงๆ ไม่ใช่ว่า ทำโดยมีศีล มีพรต แต่เราไม่มี ไอ้นั่น มันโง่ตาย สักกายะก็ไม่จริง ตัวตนของเราก็ ไม่มีอย่างนั้น เราไม่ได้ติดอย่างนี้ เราไม่ได้หลง อย่างนี้ เราไม่ได้ไปลำบากลำบน กับกิเลสอย่างนี้เลย แล้วก็ทำตามๆ เขาไปดุ่ยๆ ดื้อๆ อย่างนั้น พวกศีลพตปรามาส ทำตามประเพณีจารีต คนอื่นพาทำ ทำตามเขาไปดุ่ยๆ โดยไม่รู้ตนเองจริง

เพราะฉะนั้น สักกายะคือรู้ตนรู้ตัวจริงๆ ตนของตน อันเป็นเรายึด เราติด เราต้องรู้ให้ชัด พ้นมิจฉาทิฏฐิ เห็นจริง เห็นแจ้ง แล้วก็กระทำ ทำลายสักกายะตัวนั้น ให้จางคลาย ให้เล็กลง เบาบางลง จนเหลือตัวน้อย เรียกว่า อัตตา ก็ตามตัวน้อยให้ติดๆ ตามตัวน้อยให้แม่นๆ เรียกว่า อัตตานุทิฏฐิ เห็นอัตตาตัวน้อย หรือ ตามอัตตา ตัวที่จะยิ่งเล็กลง เล็กลง ให้ละเอียดเป็นรูปภพ อรูปภพให้ได้ แล้วจัดการ จนหมดตัวตน หมดอัตตา เป็นอนัตตา ได้อย่างแท้จริง เราก็จะถึงซึ่ง ต้นกลางปลาย อย่างถูกต้อง อย่างถูกจริงๆน่ะ

อันใดที่เราทำกันอยู่ เป็นกิจญาณ เรารู้ว่า เรากำลังทำอยู่ มันยังไม่หมดน่ะ จางคลายลงไปแล้ว เราจะเพิ่ม ตัวใหม่มาอีก จะเพิ่มกรรมฐานใหม่ จะเพิ่มเรื่องใหม่มาอีก พอได้ไหม มีแรงเหลือพอทำอีก ก็ทำเสริมหนุนขึ้นมา จะสอดร้อย มีสภาพ หมุนรอบเชิงซ้อน อยู่อย่างนี้เรื่อยไปๆน่ะ เราก็จะได้อย่าง มีจังหวะ ที่ไม่ช้า ไม่เป็น ปปัญจารามตา ไม่เป็นสภาพไปติดยึด แล้วก็ทำให้ เราเนิ่นช้าน่ะ มันจะเป็นการไม่ติดสวรรค์ ไม่ติดการเนิ่นช้า อย่างแท้ๆ ระมัดระวังจริงๆว่า ไปติดสวรรค์ ไปหลงเป็นสัคคะ ติดแป้น ติดรูปฌาน อรูปฌาน ดังได้ขยายความ สู่ฟังแล้ว ถ้าเราไม่ผิด เรารู้ตัวจริง ไอ้อันนี้กำลังทำ เป็นกิจญาณ อันนี้ทำได้แล้ว เป็นกตญาณ เกิดญาณเกิดรู้ อันที่แล้วได้แล้ว แล้วได้แล้ว ก็เลิกเพิกใหม่ หากรรมฐานใหม่ หาเรื่อง ที่เหลือใหม่ เราก็จะยิ่งเบาว่าง ละเอียดสนิทเนียน เหลือน้อย เหลือเล็ก เราก็จะแช่ อย่างเก่ง ขึ้นเรื่อย ยิ่งเบา ยิ่งว่าง ยิ่งเนียน ยิ่งสงบ ยิ่งติดง่าย ติดแล้ว ไม่อยากถอดถอนจริงๆ ถ้าใครประสพ สภาวะเหล่านี้ คุณจงรู้ ซาบซึ้ง เราไม่เอา ไม่ติดแป้น เพิกถอน สลัดคืน ปฏินิสสัคคะ ได้เก่งให้ทุกทีไป เราจึงจะเป็น คนหมดตัว หมดตน อย่างสะอาดถึงที่สุด ถึงขั้นหลาย เป็นอรหันต์ได้อย่าง สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ซึ่งเป็นปฏิปทา ที่ดีที่สุด ในขบวนการของ ปฏิปทา ๔ ทั้งหลายแหล่น่ะ

ขอให้พวกเราเข้าใจดีๆ ทำความเข้าใจดีๆ แล้วดำเนินให้ถูก เป็นสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ดังที่ว่านี้ ให้ได้ถ้วนทั่ว ทุกคนเทอญ

สาธุ.

ธรรมปัจเวกขณ์ ๒๕๒๖